เกาลัดไทย
เกาลัดไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia monosperma Vent
ชื่อวงศ์ STERCULIACEAE
ชื่อสามัญ Chestnut
ชื่ออื่น เกาลัด เกาลัดเทียม เกาลัดเมือง บ่าเกาลัด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง 4-20 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอ่อน เรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กตามยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ มักกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-15 ซม. ยาว 10-30 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบหนา มัน และเรียบหรือย่นเล็กน้อย ก้านใบยาว 2-10 ซม.
ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง แบบแยกแขนง แตกแขนงย่อยจำนวนมาก ยาวได้ถึง 35 ซม. ดอกย่อยเล็ก สีชมพูอมเขียว กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายแผ่ออกเป็นรูปกรวย แยกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกโค้งงุ้มและติดกันบริเวณปลายกลีบ ไม่มีกลีบดอก ผลแห้งแล้วแตก รูปกระสวย เปลือกผลหนาสีส้มถึงแดงเข้ม เมื่อแก่จะปริแยกออกจากกันด้านหนึ่ง เมล็ด 1-3 เมล็ด ผิวเกลี้ยง สีน้ำตาลแดงถึงดำ เนื้อในสีขาวหรือเหลืองอ่อน กินได้เมื่อทำให้สุกด้วยการต้มหรือคั่ว
การขยายพันธุ์ เพาะกล้าจากเมล็ด งอกได้ง่ายมากเนื่องจากไม่มีระยะพักตัว
ประโยชน์ 1. ปลูกเป็นไม้ประดับ ด้วยความสวยของ ใบ ดอก ผล เมล็ด และทรงพุ่ม
นำเมล็ดไปต้มหรือคั่วให้สุกต้มรับประทานเป็นของขบเคี้ยวแบบเกาลัดจีน
เนื้อไม้นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้
การปลูกและบำรุงรักษา ต้องการแดดจัดจะให้ความเจริญเติบโตเต็มที่ หากได้แสงแดงน้อยหรือร่มรำไรจะเจริญเติบโตช้า ชอบพื้นที่ดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก อินทรียวัตถุมาก น้ำและอากาศถ่ายเทสะดวก ความชื้นสูง แต่ไม่มีน้ำขัง ใส่อินทรียวัตถุสลับกับปุ๋ยเคมี ปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต ตัดแต่งกิ่งที่เกะกะออกนอกทิศทางให้ได้ทรงพุ่มที่สวยงามหลังฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่หมดผลในฤดูฝนแล้ว
“เกาลัดไทย” ไม่ได้เป็นไม้ไทย แต่ที่ได้ชื่อว่าเกาลัดไทยทั้งที่มาจากจีน ก็เป็นเพราะคำว่า เกาลัด หรือ เกาลัดจีน ที่คั่วขายที่เยาวราช ก็เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว บางแห่งก็เลยเรียกเกาลัดไทยว่า “เกาลัดเทียม” เพราะไม้ต้นนี้ไม่ใช่พวกเกาลัด(เกาลัค) อยู่คนละวงศ์กับเกาลัดที่คั่วขายกันในราคาแพง
“เกาลัดไทย”เป็นพืชถิ่นเดิมของจีนตอนใต้ บริเวณกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ไต้หวัน แล้วแพร่กระจายไปยังอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น รวมทั้งไทย ผลเป็นผลแห้งแล้ว เปลือกเหนียวเหมือนหนังมีสีส้มหรือสีแดงหุ้มเมล็ดสีดำไว้ข้างใน เมื่อแก่จัดผลจะแตกด้านหนึ่งทำให้เห็นความสวยงามของเมล็ดสีดำตัดกับสีแดงของเปลือกผล เนื้อในเมล็ดสีเหลือง ต้มสุกแล้วเนื้อในเมล็ดจะเป็นสีเหลืองสด เมื่อนำเมล็ดไปต้มหรือคั่วให้สุกก็รับประทานได้ เนื้อไม้นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เนื้อไม้มีเรซินมาก นำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้