ส้มซ่า
#ส้มซ่า #ผลไม้โบราณที่ให้ทั้งประโยชน์และความเป็นสิริมงคล
#ส้มซ่าเป็นผลไม้โบราณที่หาทานได้ยากแล้วในยุคนี้ เพราะเพียงแค่เพาะต้นกล้าได้ ก็ใช่ว่าจะมีผลส้มซ่าออกมาให้ลิ้มลองกัน ต้องผ่านกระบวนการดูแลและเอาใจใส่อย่างพิถีพิถัน ทั้งเรื่องปริมาณแสง สารอาหารในดิน และความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ กว่าจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้นไม่ง่ายเลย อย่างไรก็ตาม ส้มซ่ายังนับว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่ควรปลูกติดบ้านไว้ เนื่องจากมีคุณประโยชน์หลากหลายและยังเป็นไม้มงคลอีกด้วย
#ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน
ข้อดีของต้นส้มซ่าก็คือ เราสามารถตัดแต่งให้มีขนาดเล็กกว่าปกติ เพื่อให้เข้าข่ายของไม้ประดับได้ แต่ก็ต้องแลกกับการออกผลที่น้อยลงบ้างเล็กน้อย หากพื้นที่บริเวณบ้านกว้างขวาง ก็ควรปล่อยให้ส้มซ่าได้เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีความสูงประมาณ 2-4 เมตร แล้วคอยตัดแต่งให้เป็นทรงสวยงาม ตำแหน่งที่เหมาะแก่การปลูกมากที่สุด คือจุดที่ได้รับแสงแดดเกือบตลอดทั้งวัน ดินต้องมีความร่วนซุยและสมบูรณ์เพียงพอ กรณีที่ต้องการปลูกเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับคนในครอบครัว ก็ควรจะปลูกไว้ทางทิศเหนือของบ้าน โดยให้ผู้นำครอบครัวเป็นผู้ปลูก
#วิธีการปลูกต้นส้มซ่าให้เจริญงอกงาม
การเพาะต้นส้มซ่าสามารถทำได้ 2 วิธี คือเพาะจากเมล็ดและเพาะจากกิ่งตอน ถ้าพื้นที่เพาะปลูกเป็นเรือกสวนไร่นาอยู่แล้ว ควรเพาะด้วยเมล็ดจะดีกว่า โดยการนำเมล็ดจากผลส้มซ่าที่สมบูรณ์มาตากให้แห้งสัก 1-2 วัน ก่อนนำลงถุงเพาะกล้าให้แช่น้ำสักเล็กน้อย ใช้ดินร่วนผสมขุยมะพร้าวในการเพาะ จะช่วยให้กล้างอกได้ง่าย แต่ถ้าเพาะด้วยกิ่งตอน ให้ขุดหลุมลึกพอประมาณ ถ้าที่บ้านมีต้นกล้วยก็ให้นำมาสับละเอียดแล้วรองก้นหลุม แต่หากไม่มีใช้เป็นขุยมะพร้าวแช่น้ำก็พอได้ แล้วนำต้นกล้าลงปลูก ช่วงแรกให้หมั่นพรวนดินรอบโคนต้นบ่อยๆ และอย่าปล่อยให้ต้นส้มซ่าขาดน้ำ เพราะจะทำให้ส้มซ่าไม่ออกผลตามฤดูกาลที่เหมาะสม และยังมีโอกาสทำให้ใบเหี่ยวเฉาได้ง่ายอีกด้วย
#วิธีการดูแลรักษา
แสง
ส้มซ่าต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน ดังนั้นพื้นที่ปลูกจึงต้องโล่งกว้างและไม่มีสิ่งใดมาบดบังแสงแดด
น้ำ
การให้น้ำจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงปกติให้รดน้ำประมาณวันละครั้ง โดยวัดความชื้นที่โคนต้นเป็นหลัก ไม่ให้แห้งหรือแฉะเกินไป แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงออกผลจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำให้มากกว่าเดิมเล็กน้อย
ดิน
ดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารเพียงพอ
ปุ๋ย
ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ใส่บริเวณโคนต้นทุก 3-4 เดือน นอกจากนี้ก็อาจเสริมด้วยปุ๋ยบำรุงผลได้ ตามจังหวะการออกผลของแต่ละต้น