สารภีหลวง
#สารภีดอกใหญ่ หรือ #สารภีหลวง
สารภีดอกใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea harmandii (Pierre) Kosterm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calysaccion harmandii (Pierre) Pierre, Ochrocarpos harmandii Pierre) จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)
สมุนไพรสารภีดอกใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สารภีดง (เพชรบูรณ์), สารภี (บุรีรัมย์), ประดงช้าง (สุโขทัย) เป็นต้น
ลักษณะของสารภีดอกใหญ่
ต้นสารภีดอกใหญ่ จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาล เปลือกแตกเป็นสะเก็ดตลอดลำต้น ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ชอบดินร่วนซุย เจริญเติบโตได้ดีในที่ค่อนข้างชื้น และชอบแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบเขา ป่าดิบแล้งและทุ่งหญ้า ทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางจนถึง 1,500 เมตร ในต่างประเทศจะพบต้นสารภีดอกใหญ่ได้ที่ประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ใบสารภีดอกใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่กลีบแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอกกลับ หรือรูปใบหอกกลับแคบ ปลายใบเรียวแหลมหรือมน โคนใบกึ่งรูปหัวใจหรือสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-24 เซนติเมตร เนื้อใบหนาและเหนียวเป็นมัน ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม เส้นใบมองเห็นไม่เด่นชัด มีก้านใบยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร
ดอกสารภีดอกใหญ่ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกเป็นกระจุกตามลำต้น ตามกิ่งก้าน และตามง่ามใบ กลีบดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองนวล ดอกมีกลิ่นหอมแรง และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
ผลสารภีดอกใหญ่ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปกลมรี มีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยจะออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
ประโยชน์ของสารภีดอกใหญ่
ผลสุกมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้
เนื้อไม้สารภีดอกใหญ่เป็นสีแดงมีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ
ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกมีกลิ่นหอม