ของทุกปี พสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ได้รับสมัญญานาม “สมเด็จพระปิยมหาราช” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพวันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู ตรงกับวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เสด็จขึ้นครองราชย์ภายหลังจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตจากไข้ป่า หลังจากเสด็จฯ ออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ขณะนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุ 15 พรรษา จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนพระชนมพรรษา 20 พรรษาบริบูรณ์ จึงได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว”
วันปิยมหาราช ถือเป็นวันหยุดราชการที่สำคัญวันหนึ่งของไทย หน่วยงานราชการต่างๆ จัดพิธีประดับพระบรมฉายาลักษณ์ และเครื่องราชสักการะ สำนักพระราชวังจัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์
การจัดพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรกจัดขึ้นหลังจากปีที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวาย แล้วได้เสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือที่เรียกกันว่า “พระบรมรูปทรงม้า”
พระบรมรูปทรงม้า เป็นงานออกแบบของนายช่างชาวฝรั่งเศส สร้างขึ้นจากเงินที่ประชาชนสมทบทุนงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสที่รัชกาลที่ 5 เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 40 ปี โดยพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง
พระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5
พ.ศ.2416 ยกเลิกระบบหมอบกราบ และกำหนดการแต่งกายของทหาร
หลังจากกำหนดให้ทหารสวมเสื้อราชประแตน เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่สายตาชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในพระนครมากขึ้น พระองค์ก็ทรงกำหนดยกเลิกการหมอบกราบกษัตริย์
การเลิกทาส ยกเลิกระบบไพร่ และยกเลิกระบบหมอบกราบ
พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124 ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448 และมีข้อกำหนดไม่ให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก
พ.ศ.2417 สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสร้างโรงเรียนแห่งแรก
ก่อตั้ง โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ภายในรัชสมัยของพระองค์ก็มีการก่อตั้งโรงเรียนอีกหลายแห่ง ตั้งโรงเรียนวัด และโรงเรียนสอนศาสนาอื่นๆ และประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศไทย ในปีดังกล่าวยังมีประกาศใช้เหรียญที่ทำมาจากทองแดง และธนบัตร ซึ่งประชาชนเรียกว่า “อัฐกระดาษ”
พ.ศ.2424 ทดลองใช้โทรศัพท์
ทดลองใช้โทรศัพท์สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ถือเป็นปีแรกที่ประเทศสยามมีโทรศัพท์ใช้
พ.ศ.2426 ก่อตั้งกรมไปรษณีย์ โทรเลข
ก่อตั้งระบบไปรษณีย์ โทรเลข ในกรุงเทพฯ เพื่อการสื่อสารในพระนคร
พ.ศ.2431 ตั้งระบบปกครองส่วนกลางใหม่ และสร้างโรงพยาบาล
ก่อตั้งระบบเขตการปกครอง มณฑล เทศาภิบาล อำเภอ และจังหวัด สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ภายหลังคือ “โรงพยาบาลศิริราช”
พ.ศ.2433 คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรก
ชาวพระนครได้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรก หลังจากการสร้างโรงไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย
พ.ศ.2434 ตั้งกรมรถไฟ
ก่อตั้ง กรมรถไฟ ก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และเดินรถไฟเอกชนครั้งแรกในปี พ.ศ.2436
พ.ศ.2436 ก่อตั้งสภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุสงคราม
พ.ศ.2452 คนไทยได้มีน้ำประปาใช้ครั้งแรก
ประชาชนได้ใช้น้ำประปาครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2452 จากการยกระดับการผลิตน้ำให้มีความสะอาดได้มาตรฐาน ผ่านการขุดคลองจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี เข้ามาทางสามเสน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานตัดถนนสายหลักสำคัญในเขตพระนครอีกหลายแห่ง เพื่อขยายเส้นทางคมนาคม เปลี่ยนจากการเดินทางโดยสารทางเรือมาเป็นทางบก
การสักการะพระปิยมหาราช พระบรมรูปทรงม้า
แท่นศิลาหินอ่อนด้านหน้า จารึกคำถวายพระพรให้ทรงดำรงราชสมบัติยิ่งยืนนาน บริเวณด้านหน้าพระบรมรูปมักมีประชาชนมาถวายสักการะ โดยเฉพาะวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ประชาชนจะนำดอกกุหลาบสีชมพูอันเป็นสีของวันอังคาร วันพระราชสมภพ มาถวาย นอกจากวันที่ 23 ตุลาคมแล้ว ประชาชนยังนิยมมาถวายสักการะในคืนวันอังคาร เวลา 22.00 น. เพราะมีความเชื่อว่าพระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาประทับ ณ พระบรมรูปทรงม้าด้วย
การจัดโต๊ะหมู่บูชาถวายของสักการะพระปิยมหาราช
สิ่งที่นิยมจัดบนโต๊ะหมู่บูชาเพื่อสักการะพระปิยมหาราช ได้แก่ บายศรี หมากพลู บุหรี่ เหล้า เหล้าฝรั่ง น้ำมนต์ เชิงเทียน กระถางธูป ฯลฯ
คำถวายสักการะพระปิยมหาราช
สยามเทวะนุภาเวนะ สยามะเทวะเตชะสา ทุกขะโรคะภะยา เวรา โสภา สันตุ จะปัททะวา อเนกา อันตะรายาปี วินัสสันตุ อะเสสะโต ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตภิภาคะยัง สุขัง พลัง สิริ อายุ จะวัณโณ จะ โภคัง วุฑฒิจะ ยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะสิทธี ภะวันต เม
Comments