
มหาพรหม VS มหาพรหมราชินี VS มหาพรหมเทวี ความเหมือนที่แตกต่าง
มหาพรหม มหาพรหมราชินี และมหาพรหมเทวี เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ที่อยู่ในวงศ์กระดังงา (Family Annonaceae) และอยู่ในสกุลมหาพรหม (Genus Mitrephora) เดียวกัน
มหาพรหมทั้งสามจึงมีลักษณะทางสัณฐานวิทยา (morphology) หรือรูปทรงโดยรวมคล้ายคลึงกัน อาทิเช่น มีขนาดของลำต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5-6 ม.
ทั้ง3ชนิด มีใบเรียงสองข้างในระนาบเดียวกัน (distichous) ดอกสีขาว ดอกมีกลิ่นหอม ดอกมีรูปทรงกระเช้า หรือ หมวก (mitreform) คือ มีกลีบดอก 6 กลีบเรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกมี 3 กลีบสีขาวกางแผ่ออก ชั้นในมี 3 กลีบ ขอบกลีบประกบติดกันเหมือนกระเช้า และมีผลเป็นแบบผลกลุ่มที่มีผลย่อยแต่ละผลแยกจากกัน
แต่ในท่ามกลางความเหมือนนั้น หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ทั้งมหาพรหม มหาพรหมเทวี และมหาพรหมราชินี มีข้อแตกต่างกัน จนแยกออกเป็นคนละชนิด
แม้ว่ามหาพรหมและมหาพรหมเทวีมีถิ่นกําเนิดเดิมจากพื้นที่เขตร้อนในระดับต่ำ โดยมหาพรหมราชินีมีถิ่นกำเนิดเดิมจากพื้นที่เขตหนาวในระดับสูงก็ตาม ปัจจุบันทั้งสามชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ สามารถปลูกได้ในพื้นที่ราบที่มีอากาศร้อนเหมือนกัน สําหรับการปลูกเป็นไม้ประดับที่สวยงาม ควรปลูกลงแปลงกลางแจ้ง ให้มีระยะปลูกห่างจากต้นข้างเคียงอย่างน้อย 2 ม. มหาพรมทั้งสามชนิดมีทรงพุ่มโปร่งเมื่อได้รับแสงแดดทั่วถึง จะทำให้พุ่มสวยงาม ถ้าดินปลูกร่วนระบายน้ำดี จะออกได้เต็มต้นอย่างสวยงามและจะมีช่วงออกดอกได้ยาวนานมากกว่าในถิ่นกําเนิดเดิม
เนื่องจากพรรณไม้ทั้งสามชนิด มีดอกดกขนาดใหญ่สวยงาม และมีกลิ่นหอม จึงมีการขยายพันธุ์กันเป็นจํานวนมาก โดยการทาบกิ่งที่ใช้มะป่วนเป็นต้นตอ แล้วนําไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จนกล่าวได้ว่า พรรณไม้ทั้งสามชนิดนี้พ้นจากสภาพที่หายากและใกล้สูญพันธุ์แล้ว